วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

กฎหมายกับความรัก



กฎหมายกับความรัก

เรามักจะพูดถึงกฎหมายในแง่ของอำนาจและการบังคับใช้จนทำให้ดูประหนึ่งว่า ในวงล้อมของกฎหมายเต็มไปด้วยความเข้มงวดและบีบรัดผู้คน
ทำไมเราไม่มองกฎหมายในแง่ของความรักบ้าง ความรักที่ก่อให้เกิดสันติสุข ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจที่รักจรรโลงสังคมแห่งมนุษยชาติให้ยั่งยืนตราบชั่วกัลปาวสาน
ถ้ามองกฎหมายด้วยสายตาของพวกที่มองโลกในแง่ร้าย (Pessimist) กฎหมายดูออกจะแข็งกระด้าง บังคับและเคี่ยวกรำมนุษย์ไม่รู้จักหยุดรู้จักหย่อน
จึงใคร่เสนอให้ท่านมองกฎหมายด้วยสายตาของพวกที่มองโลกในแง่ดี (Optimist) ดูบ้าง
ท่านจะมองโลกในแง่ดีได้ ก็ต่อเมื่อท่านเกิดความรัก ซึ่งมิใช่ความรักฉันชู้สาว
แต่เป็นความรักในมวลมนุษย์ ไม่ว่าจะยากดีมีจน มีเพศ มีผิว มีเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม
ความรักชนิดนี้แทรกอยู่ในทุกอณูของโลก ก้อนหินทุกก้อน หยดน้ำทุกหยด และแผ่นดินทุก ตารางนิ้ว
ความรักเช่นว่านี้ ก่อให้เกิดความสงบ ก่อให้เกิดสันติสุข ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่มีการฉ้อโกงกัน ไม่มีการทำร้ายและข่มเหงรังแกกัน
กฎหมายก็ก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยความมุ่งหมายอันเดียวกัน คือ มุ่งที่จะให้เกิดความสงบ เกิดความความสันติสุขในสังคม มุ่งที่จะมิให้มนุษย์ทั้งหลายเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
กฎหมายจึงมีความสัมพันธ์กับความรักอย่างชนิดที่แยกกันไม่ออก
โลกในยุคดึกดำบรรพ์ เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความมืดมน โหดเหี้ยมและทารุณ
มนุษย์ตกอยู่ในความหวาดกลัว แย่งชิง และทำลายล้างซึ่งกันและกัน
จวบจนกระทั่งมนุษย์สามารถรวมตัวกันเป็นหมู่เหล่าก่อตั้งสังคมหรือชุมชนขึ้น
จึงเกิดมีระเบียบ ข้อบังคับของสังคม หรือชุมชนเพื่อให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ขัดแย้งกัน
หากมีความขัดแย้งกันระหว่างสมาชิกในชุมชน ผู้เป็นใหญ่ในชุมชนนั้นก็จะช่วยไกล่เกลี่ยหรือวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท เพื่อให้ความขัดแย้งนั้นหมดสิ้นไป
ระเบียบ และคำชี้ขาดเช่นว่านี้แหละที่ต่อมาได้พัฒนาขึ้นกลายเป็นกฎหมายที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
ส่วนผู้ชี้ขาดข้อพิพาทก็ได้พัฒนามาเป็นระบบการศาล ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง
แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมีบทบาทอันสำคัญในการระงับข้อพิพาทหรือข้อโต้เถียงกัน ระหว่างสมาชิกในชุมชน
เมื่อข้อพิพาท หรือข้อขัดแย้งในชุมชนหมดไป ความรักระหว่างสมาชิกในชุมชนก็กลับมา สันติสุขและความสงบเรียบร้อยก็ยังคงอยู่ในชุมชน
อย่างนี้จะเรียกว่า กฎหมายมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรักให้เกิดขึ้นในสังคมก็เห็นจะไม่ผิดใช่ไหมครับ
เพราะความขัดแย้ง การโต้เถียงกันนำมาซึ่งความโกรธ ความเกลียดชังและความผูกพยาบาทจองเวร
แต่สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ด้วยวิถีทางแห่งสันติ คือ วิถีทางแห่งกฎหมาย มิใช่วิถีทางแห่งกฎหมู่ หรือความรุนแรง
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ สามารถแก้ไขความรุนแรงได้ด้วยสันติวิธี ยอมอยู่ในระเบียบข้อบังคับ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าทำให้ตนเองต้องละเลิกความประพฤติประเภทใช้อารมณ์เอาแต่ใจตัว
มนุษย์รู้ดีว่าความประพฤติใช้อารมณ์และเอาแต่ใจตัวนั้น นำมาซึ่งความแตกแยก และทำลายสันติสุขในสังคม ก่อให้เกิดความผิดต่าง ๆ เช่น การฆ่า การทำร้ายร่างกาย การลักขโมย การเหยียดหยามดูหมิ่น ฉ้อโกง ยักยอก และการประพฤติผิดในกาม เป็นต้น
แม้แต่พี่น้องคลานตามกันมา ก็สามารถที่จะฆ่าฟันกันได้ เมื่ออารมณ์และความเห็นแก่ตัวเข้าครอบงำ เช่น การแย่งชิงทรัพย์สินมรดก ฆ่าฟันกันทั้งตระกูลก็มีให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ ยิ่งมีอบายมุขเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ทำให้มนุษย์หลงไหลลืมตัว ขาดสติ ใช้อารมณ์และความหยาบช้า กระทำการต่าง ๆ นานาที่เป็นอันตรายต่อสังคม และต่อมนุษย์ด้วยกันเอง
มนุษย์จึงต้องสร้างกรอบให้ตัวเอง จะได้ไม่ออกนอกลู่นอกทาง สร้างมาตรฐานความประพฤติและความดีงามเอาไว้เพื่อให้เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติ จะได้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข
นี่คือต้นกำเนิดของกฎหมายซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับของสังคม เป็นวิธีอันชาญฉลาด และมหัศจรรย์ของมนุษย์ที่ทำให้สังคมยืนยงมาตราบเท่าทุกวันนี้
ที่มหัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มนุษย์สร้างตัวบทกฎหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติตามก็ต้องอยู่ภายใต้กำหนดกฎเกณฑ์ที่ตนเป็นผู้สร้างขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายอย่างเดียวกัน
ความศรัทธาในความรักก่อให้เกิดความเคารพนับถือในตัวบทกฎหมาย ด้วยความเคารพนับถือตัวบทกฎหมายก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม
สังคมที่สงบสุข คือสังคมที่อบอวลไปด้วยความรักซึ่งกันและกันปราศจากการเบียดเบียน พยาบาทจองเวร และทำร้ายรังแกกัน
การลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ความประพฤติของสังคมเป็นไปเพื่ออบรมสั่งสอนให้เขากลับตนเป็นพลเมืองดี มิใช่เป็นไปด้วยความเคียดแค้น มุ่งที่จะตอบแทนแก้แค้นผู้กระทำผิดซึ่งมีแต่จะก่อศัตรูไม่รู้จบ
วิธีการลงโทษสมัยใหม่จึงมุ่งที่จะแก้ไขเยียวยาบุคคลให้สามารถร่วมกับผู้อื่นได้เป็นปกติสุขมิใช่ตราหน้าว่าเขาเป็นคนชั่วร้ายไม่มีทางแก้ไขเยียวยาได้
แต่แน่ละถ้าไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้จริงๆ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการสุดท้าย คือตัดออกจากสังคม ถือว่าเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา
ตัวอย่างของกฎหมายที่อบอวลไปด้วยความรัก ความศรัทธาในมนุษยชาติ ก็คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว
เจตนารมณ์ของการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว มุ่งที่จะคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กเยาวชนและครอบครัว กับเพื่อนให้มีวิธีการสำหรับใช้แก่เด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสม โดยมุ่งเน้นที่การแก้ไขปัญหาครอบครัวเป็นสำคัญ
ในคดีอาญานั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวจะพิจารณาคดีอาญาที่เด็กและเยาวชนอายุกว่า 7 ปี และไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์กระทำผิด โดยกฎหมายบังคับให้ศาลหรือผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ทุกคนคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็ก ที่จะให้การอบรมแก้ไขยิ่งกว่าการลงโทษ
นอกจากเรื่องสวัสดิภาพของเด็กเยาวชนและครอบครัวแล้วศาลจะต้องพยายามหาวิธีการสำหรับใช้แก่เด็กและเยาวชน ให้เหมาะสมด้วยความรักและความเข้าใจในตัวเด็กและเยาวชนผู้หลงผิด กล่าวคือ

ประการแรก มุ่งที่จะคุ้มครองความปลอดภัยของสังคม
ประการที่สอง มุ่งที่แก้ไขเด็กและเยาวชนที่หลงผิดเป็นรายบุคคล
เหตุที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคม ก็เพื่อให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ถ้าเราแก้ไขเด็กและเยาวชนที่หลงผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดีไม่ได้ เขาก็จะกลายเป็นมะเร็งร้ายของสังคม ทำให้สังคมไม่มีความปลอดภัย มีสันติสุข
ฉะนั้น การแก้ไขเยียวยาเด็กและเยาวชนที่หลงผิด ศาลจึงต้องคำนึงถึงสังคมเป็นอันดับแรก ว่าสังคมจะได้รับความปลอดภัย และจะมีความสงบสุขหรือไม่
ขณะเดียวกัน ศาลก็ต้องคำนึงถึงเด็กเป็นรายบุคคลด้วยว่าจะแก้ไขเด็กและเยาวชนที่หลงผิดให้ได้รับสิ่งที่ดีขึ้น หรือพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร
เปรียบก็เหมือนกับน้ำเน่าหรือน้ำเสียมาใส่ในแก้วน้ำสะอาด
น้ำสะอาดในแก้วนั้นจะกลายเป็นน้ำสกปรก ที่ดื่มไม่ได้ในทันทีทันใด
เช่นเดียวกันกับการที่ปล่อยเด็กและเยาวชนที่หลงผิด โดยมิได้แก้ไขให้ดีขึ้นให้เข้าไปอยู่ร่วมในสังคมที่มีความสงบเรียบร้อย เขาก็จะเข้าไปทำลายสังคมนั้น หรือทำให้สังคมนั้นไม่มีความปลอดภัย
แต่ถ้าเราแก้ไขเด็กและเยาวชนที่หลงผิดนั้นให้กลับตนเป็นพลเมืองดีได้
ก็เหมือนกับการทำน้ำเสียให้เป็นน้ำสะอาด เมื่อน้ำสะอาดแล้วก็สามารถนำไปใส่ในแก้วน้ำสะอาด ปะปนกับน้ำสะอาดในแก้วนั้นแล้วก็สามารถดื่มได้โดยไม่เป็นอันตราย หรือก่อให้เกิดความตะขิดตะขวงใจ
ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีครอบครัวนั้น ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาคดีครอบครัว เช่น คดีหย่า คดีฟ้องขอให้รับรองบุตร คดีฟ้องขอเพิกถอนอำนาจปกครองบุตร คดีรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งศาลจะใช้การไกล่เกลี่ยเป็นหลัก โดยศาลอาจไกล่เกลี่ยเองหรือตั้งคณะผู้ไกล่เกลี่ยก็ได้ การดำเนินคดีต้องคิดถึงสวัสดิภาพของบุตรผู้เยาว์และครอบครัวเป็นสำคัญ
งานของศาลเยาวชนและครอบครัว จึงเป็นงานที่ต้องอาศัยความรักความเมตตา และความเข้าใจในตัวเด็กและเยาวชนที่หลงผิดรวมทั้งครอบครัวที่มีปัญหาเป็นอย่างสูงยิ่ง
เป็นงานที่จะใช้ระเบียบข้อบังคับแต่เพียงอย่างเดียวหาได้ไม่
แต่จะต้องใช้ความยืดหยุ่น การดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการประกอบกับมนุษยธรรมและกุศลจิตเป็นส่วนประกอบอันสำคัญ
จะต้องเข้าใจในเบื้องแรกว่า มนุษย์ปุถุชนย่อมมีความผิดพลาดยิ่งเป็นผู้อ่อนด้อยด้วยสติปัญญาและวัย ก็ยิ่งผิดพลาดมาก บาปเคราะห์ที่เด็กและเยาวชนก่อขึ้น ส่วนมากผู้ใหญ่เป็นผู้สร้างรอยบาปไว้ให้ และผลร้ายตกแก่เด็กและเยาวชน
เช่น พ่อแม่มีลูกโดยไม่ตั้งใจให้เกิด เมื่อเกิดมาแล้วก็ไม่รับผิชอบ ไม่ให้การเลี้ยงดู
พ่อแม่มีฐานะยากจน ไม่สามารถให้การเลี้ยงดูลูกได้
พ่อแม่ไม่มีโทสะจริต มีโมหะจริต ทะเลาะเบาะแว้งกัน แยกจากกัน ทิ้งลูกไว้ให้เผชิญชะตากรรม ฯลฯ
เหล่านี้เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ใหญ่สร้างชะตากรรมให้เกิดแก่เด็ก ทำให้เด็กมีชีวิตอยู่ด้วยความมืดมน มีจิตใจพิการขาดวิ่น
“พิการทางกาย ยังดีกว่าพิการทางใจ และกันดารความรัก” เพลงเพราะๆ ของคุณสุเทพ วงศ์กำแหง ก็เคยร้องเอาไว้
เมื่อครอบครัวมีปัญหาทำให้เด็กและเยาวชนนี้หลงผิดไปเพราะเป็นโรคขาดรักและพิการทางจิตใจ
สังคมก็ต้องเยียวยาด้วยการให้ความรัก ความเมตตาและความเข้าใจกับเขาเหล่านั้น
นี่คือการใช้กฎหมายควบคู่ไปกับความรัก ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

ชื่อเสียงเรียงนามสำคัญไฉน?









กฎหมายกับความรัก
วิชา มหาคุณ
จาก วารสารสภาทนายความ














ไม่มีความคิดเห็น:

ดวงดีดอทคอม เวปใหม่