วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

ทำนายฝัน ค


หลักคำสอนที่ปรากฏในคัมภีร์ปัถเวทน์เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเป็นความสนใจที่ไม่ควรมองข้ามไปพอๆ กับการใส่ใจต่อสภาพความเป็นอยู่ของชีวิตของเราทุกคน เพราะเป็นหลักธรรมะที่หากบุคคลใดๆ ก็ตาม สามารถจะซาบซึ้งและทำความเข้าใจอย่างแจ่มชัดแล้วก็สามารถแผ่ความรู้ความเข้าใจด้วยปัญญาญาณไปยังปรากฏการณ์ของชีวิต โดยเฉพาะชีวิตที่ปนเปื้อนด้วยโลกธรรมในทุกแง่มุมได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน
คำว่า “ไตรลักษณ์” นี้ (๑๒)มีความหมายว่าลักษณะ ๓ อย่างของสรรพสิ่งตามธรรมชาติ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสามัญลักษณะ คือลักษณะทั่วไปของสิ่งทั้งปวง ๓ ประการ ไตรลักษณ์เป็นกฎธรรมชาติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลกหรือไม่ กฎธรรมชาตินี้ยังคงมีอยู่และเป็นไปตลอดกาล พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ แล้วนำมาประกาศให้คนอื่นเข้าใจตามมี ๓ ประการคือ ๑. อนิจจตา แปลว่า ความเป็นของไม่เที่ยง(๑๓) โดยคำว่า อนิจจตา มาจาก อ แปลว่า ไม่ นิจจ แปลว่า คงทน ตา แปลว่า ภาวะ ดังนั้น อนิจจตา จึงมีความหมายถึง ภาวะที่ไม่คงทนถาวรหรือภาวะที่ไม่เที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ มีเกิดมีดับ มีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางสิ่งเราเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน อาทิเช่น ทารกเกิดมาตัวเล็กนิดเดียวแล้วค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นเป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว และแก่ชรา สุดท้ายก็ตายจากไป อาทิเช่น ภูเขา เราสังเกตเห็นความเปลี่ยนได้ยากดูเหมือนว่า ๑๐๐–๒๐๐ ปี ก็ยังเหมือนเดิน ความจริงแล้ว ภูเขานั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่สังเกตเห็นไม่ได้ด้วยการใช้เวลาเพียงเล็กน้อย และสิ่งที่เป็นนามธรรมก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเหมือนกัน อาทิเช่น ได้ลาภ(๑๔) เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ มีนินทาและสรรเสริญ เคยเป็นคนดีแต่ก็กลับเป็นคนเลวได้ วันนี้สิ่งหนึ่งให้ความสุขแก่เราได้ ภายหลังสิ่งนั้นอาจให้ความทุกข์แก่เราก็ได้
๒. ทุกขตา แปลว่าความเป็นทุกข์หรือทนอยู่ได้ยาก มาจาก ทุกข แปลว่า ทนไม่ได้ เป็นทุกข์ และ ตา แปลว่า ภาวะ รวมความคือภาวะที่ทนไม่ได้ หมายถึงภาวะที่ขัดแย้งไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
๓. อนัตตตา แปลว่า ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน มาจาก อะนะ แปลว่า ไม่ อัตต แปลว่า ตัวตน ตา แปลว่า ภาวะ รวมความคือ ภาวะที่ไม่มีตัวตน อนัตตตา แปลได้ ๒ ความหมายคือ ๑. แปลว่า ไม่ใช่ตน หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตนของตน สิ่งที่เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งประกอบกันเข้าเป็นรูปเป็นร่างที่เราเข้าใจว่า คน นี้ ไม่ใช่ตัวของคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นของว่างเปล่า เป็นเพียงสิ่งสมมติ มันเป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดขึ้น และดำเนินไปตามเหตุปัจจัย และ ๒. แปลว่า ไม่มีตัวตนที่แท้จริง หมายความว่า ไม่มีวิญญาณถาวรหรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย
และสิ่งใดเล่าที่ทำให้ไม่สามารถพิจารณาเห็นความจริงแห่งไตรลักษณ์นี้ ท่านอธิบายว่า มี ๓ สิ่งด้วยกันที่มาปิดบัง คือ ๑.สันตติ ความสืบต่อแห่งนามรูป เป็นสิ่งที่มาปิดบังอนิจจังไว้ กล่าวคืออนิจจังนี้โดยรวมคือความสืบต่อแห่งกรรม ฤดู จิต อาหาร ตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่ายคือ ขนเก่าหลุดล่วงไป ขนใหม่เกิดขึ้นแทน อายุวันเก่าหมดไป อายุวันใหม่มาแทน ความคิดเก่าดับไป ความคิดใหม่มาแทน นี้คือคุณลักษณะของสันตติที่มาปิดบังไม่ให้เห็นความเป็นอนิจจัง ๒. อิริยาบถ การเปลี่ยนอิริยาบถ เข้ามาปิดบัง ทุกขัง ตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่ายคือ เมื่อเราเดินเมื่อย เราก็เปลี่ยนเป็นนั่ง นั่งเมื่อยก็เปลี่ยนเป็นนอน ทำให้คิดว่าขันธ์ ๕ ของเราเป็นสุข และ ๓.ฆนสัญญา ความเป็นกลุ่มก้อนที่อยู่ในตัวเรา ปิดบังความเป็นอนัตตา ทำให้เรายึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงธาตุต่างๆ ประกอบขึ้นเป็นคน ถ้าแยกออกแล้วไม่มีความเป็นคนเลย ต่อเมื่อรวมกันเข้าจึงสมมติชื่อว่าเป็นสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง นี้คือสิ่งที่เรียกว่าฆนสัญญา ที่เข้ามาปิดบังปัญญาไม่ให้เห็นความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่งทั้งปวง
โดยสรุปแล้วเราสามารถเรียนรู้ความเป็นสามัญแห่งลักษณะดังกล่าวได้ อาทิเช่น เมื่อเห็นมะม่วงก็ให้พิจารณาความไม่เที่ยง(อนิจจตา)คือการมีผลอ่อน ผลแก่ และผลสุก สาเหตุที่ทำให้มะม่วงเปลี่ยนสภาพไปเรื่อยๆ เพราะเนื้อมะม่วงไม่มีความสมบูรณ์ เนื้อมะม่วงจึงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขตา) ต้องแปรเปลี่ยนไปจนผลมะม่วงสุกและเน่าเสียไปในที่สุด การที่ผลมะม่วงมีอ่อนมีแก่ในตัวของมันเองเป็นภาวะที่มิใช่ตัวตน(อนัตตตา)ความอ่อน ความแก่ของมะม่วงเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง พุทธศาสนาจึงไม่เชื่อว่าต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าองค์ใดมาคอยกำกับการเปลี่ยนแปลงของผลมะม่วง สรรพสิ่งทั้งหลายย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ โดยไม่มีผู้ใดมาบันดาลให้เป็นไปได้
๔. บทสรุป : สารัตถธรรมในคัมภีร์ปัถเวทน์กับการนำมาใช้ได้จริง
และเมื่อท่านทั้งหลายอ่านคัมภีร์ปัถเวทน์นี้จบลงอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า มีคำสอนที่แฝงอยู่อย่างมากทั้งในแง่ของบุคลาธิษฐานคือการยกตัวบุคคลเป็นองค์ประกอบ หรือธรรมาธิษฐาน การยกหลักธรรมเป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการปกครองของท่านผู้ปกครอง อาทิเช่น พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการปกครองโดยหลักทศพิธราชธรรม(๑๕) การมีสติความไม่ประมาทคือการเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติมีความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุมเป็นคุณเครื่องกำกับความประพฤติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัวไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม
ขณะเดียวกันก็ไม่พลาดโอกาสสำหรับความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า ตระหนักในสิ่งที่พึงทำและพึงละเว้น ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ กระทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบ และต้องก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ การเป็นคนมีความกตัญญูกตเวที (๑๖) สิ่งเหล่านี้ คนไทยเชื่อว่าเป็นบุญทั้งสิ้น เป็นบุญที่อยู่ในระนาบที่จะทำให้ได้มาซึ่งลูกหลานที่เป็นคนดีมีความกตัญญูกตเวที ว่านอนสอนง่าย รักพ่อ รักแม่ คนไทยจึงมีกุศลเจตนาน้อมไปในการทำบุญและสร้างกุศลอย่างเป็นด้านหลัก ซึ่งเมื่อกล่าวเฉพาะเรื่องบุญในพระพุทธศาสนามีความหมายเป็น ๓ ประการคือ ๑. หมายถึงความสะอาด ความบริสุทธิ์ และความดี อันหมายถึงสภาพจิตใจที่ผ่องใส บุญจะทำหน้าที่ชำระล้างความชั่วหรือมลทินในจิตใจให้หมดสิ้นไปหรือบรรเทาเบาบางลงได้ ๒. หมายถึงการกระทำความดีต่างๆ มีสภาพเป็นเหตุแล้วส่งผลเป็นความสุข และ ๓.หมายถึงความสุขมีสภาพที่เป็นผลเพราะความสุขเป็นผลของการทำความดี สิ่งใดที่ทำไปแล้วไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน สิ่งนั้นจัดเป็นบุญ เป็นบุญและความดีที่อยู่ในระนาบที่พุทธศาสนาเรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ(๑๗) ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอ่านเรื่องนี้ด้วยการพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะพบเจตนาเดิมของท่านว่าเป็นไปในทางให้คนเรารู้ตัวล่วงหน้าถึงความเป็นอนิจจังของโลก มากกว่าที่จะให้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นไปทุกตัวอักษร แม้ว่าเรื่องที่กล่าวนั้นในบัดนี้รับรองกันเป็นเรื่องจริงอยู่มากก็ตาม โลกเรานี้ไม่มีอะไรแน่นอน เป็นไปตามโลกธรรมทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี มีทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา(๑๘) และก็ในเมื่อมันอาจเปลี่ยนกลับไปกลับมา หน้ามือเป็นหลังมืออยู่เช่นนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะฝันจริงหรือไม่จริงนั้น(๑๙) เราไม่คิดก็ได้ไม่เป็นปัญหาสำคัญ แต่ปัญหาสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าเราจะทำตัวเราเองให้เหมาะสมกับที่จะอยู่ในโลกอันไม่แน่นอนนี้อย่างไรเท่านั้น หากใครจะเชื่อถือเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องทำนายฝันที่แน่นอนอย่างยิ่งก็คงจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรมากไปกว่าอ่านหนังสือทำนายฝันธรรมดาเล่มหนึ่งเท่านั้น(๒๐)แต่ถ้าอ่านในฐานะเป็นเรื่องหลักธรรมที่แสดงความไม่เที่ยงที่สั่งสอนตัวเองไม่ให้ทำบาป แต่ให้เป็นคนกตัญญู รักสงบ คิดช่วยตัวเอง รักษาเกียรติยศของตัวเอง ต้องไม่ทำร้ายตัวเองประดุจว่าใครๆ ก็ไม่รัก ซึ่งการกระทำลักษณะนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย(๒๑) ต้องประคองสติแล้วนำกลับมาสู่การกระทำที่เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์จะดีกว่าซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องกรรมดี กรรมชั่ว ไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องชะตาลิขิตแต่ถือกฎแห่งกรรมเป็นด้านหลัก(๒๒) ถ้าทำอยู่เช่นนี้ผลจะไปเกิดเป็นอย่างอื่นตามตำราโชคชะตาหาได้ไม่ ต้องเป็นไปตามเหตุผลของมันเอง ทางดีที่สุดก็คือการคิดหาคำตอบของปัญหาที่ว่าเราจะครองชีพอยู่อย่างไรจึงจะพบความสุขโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอนด้วยการใช้ปัญญาความรอบรู้ ที่อยู่ในระนาบของความเฉลียวฉลาด ความเชี่ยวชาญ ความเบิกบาน และคุณธรรม กล่าวคือการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความความบริสุทธิ์ใจ ยึดหลักปัญญา เมตตา และขันติ สามารถเป็นตัวอย่างให้ลูกหลานของเราได้ถือเป็นตัวอย่างในการที่จะครองชีวิตได้อย่างมีความสุข.

ไม่มีความคิดเห็น:

ดวงดีดอทคอม เวปใหม่