วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

ทำนายฝัน ข


ในส่วนของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น นอกจากพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์เจ้าสำราญ ยังทรงเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการบริจาคทานเป็นเลิศอีกด้วย กล่าวคือพระองค์นอกจากมีพระมเหสีที่เป็นภคินีของพระเจ้าพิมพิสารแล้ว ยังทรงมีมเหสีอื่นอีกหลายพระองค์ด้วยกัน ที่สำคัญคือพระนางมัลลิกา(๔) ตามประวัติแล้วกล่าวว่าพระนางเป็นพระมเหสีที่ไม่ทรงพระสิริโฉม แต่เป็นผู้ที่มีปัญญา มีความฉลาดเป็นเลิศ โดยเฉพาะการจัดการถวายทานที่สำคัญๆ โดยพระนางถือกำเนิดในวรรณะแพศย์ พระเจ้าปเสนทิโกศลได้พบนางเมื่อครั้งนั่งขายดอกมะลิอยู่ที่ร้านในตลาด ทรงพอพระทัยในความฉลาดจึงทรงรับไว้เป็นพระมเหสี นอกจากนี้ยังพบว่าพระองค์ทรงมีพระมเหสีอื่น อาทิเช่น พระนางวาสภขัตติยา พระมารดาของพระเจ้าวิฑูฑภะ ทั้งยังมีพระชายาอีกคือพระนางวาสภขัตติยาผู้เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงขอมาอภิเษกด้วยหวังจะได้เป็นพระญาติสนิทของพระพุทธเจ้าในส่วนของพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการมีกองทัพที่เข้มแข็งและฉลาดในการรบมากที่สุดพระองค์หนึ่ง (๕) ในท้ายพระชนม์ชีพของพระองค์มีลักษณะคล้ายกับพระเจ้าพิมพิสารผู้พระสหาย แห่งแคว้นมคธ(๖) ซึ่งถูกพะราชโอรสยึดอำนาจเหมือนกัน โดยพระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรูยึดอำนาจด้วยการสำเร็จโทษในเรือนจำ ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ๘ ปี และพระเจ้าปเสนทิโกศล ถูกพระเจ้าวิฑูฑภะ พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระนางวาสภขัตติยายึดอำนาจในปีที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน(๗) ที่กล่าวมาโดยย่อนี้เพื่อแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้ทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับต้นกำเนิดของคำทำนายปัถเวทน์ (๘)ของพระองค์(พระเจ้าปเสนทิโกศล) คำทำนายพระสุบินของพระเจ้าปเสนทิโกศล หรือที่เรียกเพี้ยนไปว่า “ปัถเวนท์” นั้น(๙) เป็นเรื่องที่น่าคิด จะคิดเพราะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม อย่างน้อยจะทำให้พบความเพลินในธรรม โดยเฉพาะคือความไม่เที่ยงของโลก และเห็นสมจริงตามที่ท่านกล่าวนั้นบ้างไม่มากก็น้อย ความในฝันนั้น มีอยู่ ๑๖ ข้อ มีที่มาในบาลีคือพระไตรปิฎกสยามรัฐ เล่ม ๒๗ หน้า ๒๔ มีอธิบายละเอียดในอรรถกถาของพระบาลีนั้น คือเอกนิบาตวัณณนา ภาค ๒ หน้า ๑๔๖ ส่วนที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว คือชาดกฉบับหอสมุดวชิราวุธ เล่ม ๒ หน้า ๑๗๙ จะยกเอาหัวข้อบาลีในพระไตรปิฎกมาใส่ไว้ในที่นี้ก่อนคือ(๑๐)
อุสภา รุกฺขา คาวิโย ควา จ อสฺโส
กโส สิคาลี จ กุมฺโภ โปกฺขรณี จ
อปากจนฺทนํ ลาวูนิ สีทนฺติ สิลา
ปลวนฺติ มณฺฑูกิโย กณฺหสปฺเป
คิลนฺติ กาก สุวณฺณา ปริวารยนฺติ
ตสาวกา เอฬกานํ ภายนติ
วิปริยาโย วตฺตติ นยิธมตฺถิ ฯ
คำแปล. หม่อมฉันได้ฝันเห็นโคอุสุภราช ๑ ต้นไม้๑ แม่โค๑ โคสามัญ๑ ม้า๑ ถาดทองคำ๑ สุนัขจิ้งจอก๑ หม้อน้ำ๑ สระโบกขรณี๑ ข้าวสารที่หุงไม่สุก๑ แก่นจันทน์๑ น้ำเต้าจมน้ำ๑ หินลอยน้ำ๑ นางเขียดกลืนกินงูเห่า๑ หงส์ทองแวดล้อมด้วยกา๑ เสือกลัวแพะ๑ ดังนี้ ปริยายอันผิดนี้จักไม่มีในยุคนี้ฯ
เนื้อหาสาระของความเรื่องนี้ เริ่มจากว่าพระเจ้าปเสนทิโกสล มหาราชแห่งกรุงสาวัตถี แคว้นโกศล ทรงพระสุบินไปในคืนวันหนึ่งว่า ได้เห็นเรื่องประหลาดที่ไม่คิดว่าจะเป็นได้ถึง ๑๖ เรื่องด้วยกัน รุ่งขึ้นจึงตรัสถามพราหมณ์ในที่ประชุมเสนามหาอำมาตย์ว่าความฝันของพระองค์จะมีผลดีร้ายประการใดคณะพราหมณ์กราบทูลว่า ความฝันครั้งนี้ร้ายแรงมาก จะมีภัยต่อราชบัลลังก์และพระชนมายุ ต้องทำพิธีบูชายัญด้วยชีวิตคน สัตว์ และสิ่งของ เป็นจำนวนมาก เคราะห์ร้ายจะกลายเป็นเคราะห์ดี และหายได้ในที่สุด พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตกพระทัย รับสั่งให้เตรียมการทำพิธีบูชายัญตามคำแนะนำของคณะพราหมณ์ โดยระหว่างที่กำลังเตรียมการอยู่นั้น พระนางมัลลิกา ทูลแนะนำให้ไปขอคำอธิบายจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ใกล้กรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเห็นดีด้วย จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลถามถึงเหตุแห่งมหาสุบินนิมิตนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า ความฝันครั้งนี้จะไม่มีผลแก่ตัวพระเจ้าปเสนทิโกศล และจะไม่มีผลในปัจจุบันนี้ แต่จะมีผลแก่มนุษย์ชาติในอนาคตกาล และได้ทรงพยากรณ์ความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลทีละข้อจนจบดังนี้ (๑๑)
(๑) อุสภา โคล่ำสันสี่ตัววิ่งมาจากทิศทั้งสี่ มีอาการเกรี้ยวกราดวิ่งเข้าหาดุจจะชนกันที่หน้าพระลานหลวง พอเข้าใกล้กัน ก็ถอยห่างออกจากกันเสีย หาชนกันไม่ ข้อนี้ทรงทำนายว่า ไม่เกิดอะไรขึ้นแก่พระเจ้าปเสนทิหรือใครๆในบัดนี้ แต่ว่าในกาลข้างหน้า เป็นสมัยที่พระราชาหรือชนชั้นปกครอง และพลเมืองพากันประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม พากันเดือดร้อนข้าวยากหมากแพง กระทั่งฝนก็ไม่ตก มีแต่ลั่นคำรามเฉยๆ สำหรับในบัดนี้ น่าจะได้แก่การที่มหาประเทศ ทั้งหลายเข็ดข้อระอา ในการที่จะทำสงครามแก่กันได้แต่คำรามกันเฉยๆ
(๒) รุกฺขา ต้นไม้ทั้งหลาย พองอกได้เพียงคืบหนึ่ง หรือศอกหนึ่ง ก็มีดอกและมีลูก ทรงทำนายว่าในกาลข้างหน้าสมัยหนึ่ง เด็กหญิงและชายจะมีราคดำฤษณาไปสู่อำนาจบุรุษแต่เด็กๆ มีครรภ์และมีบุตร ทั้งที่วัยยังไม่สมบูรณ์ ข้อนี้ดูเหมือนว่า เท่าที่ปรากฏอยู่แก่ตาเราทั่วไปในบัดนี้ ก็พอที่จะรับรองความข้อนี้ได้แล้ว
(๓) คาวิโย แม่โคทั้งหลายต่างต้องพากันดูดกินนมของลูกโคที่ตนเพิ่งคลอดออกมาเอง ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่งซึ่งหมู่มนุษย์พากันละเลยต่อเชฎฐาปจายนกรรม คือการนอบน้อมต่อท่านผู้เจริญกว่า โดยอายุ โดยชาติและคุณสมบัติ เด็กหนุ่มทั้งหลายสามารถหาเลี้ยงตัวเองตามชอบใจ ได้ทรัพย์มาแล้ว ชอบใจก็แบ่งให้บิดามารดาที่แก่เฒ่า ไม่ชอบใจก็ไม่แบ่ง ถือลัทธิเสรีภาพแม้ต่อกฎแห่งกรรม คนแก่ทั้งหลายจักต้องคอยประจบประแจงเอาใจเด็กๆของตน เพื่อขอสิ่งของมาเพื่อรับประทานไปวันหนึ่งๆ(๔) ควา จ หมู่มนุษย์พากันจับลูกโคอ่อนๆ เข้าเทียมแอก ปล่อยโคที่หนุ่มแน่นแข็งแรงเสีย ไม่เอาใจใส่ ผลที่ได้ก็คือความยุ่งยากไม่ลุล่วงสมหมาย ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่ง ซึ่งพระราชา หรือชนชั้นปกครอง พากันมีความคิดเห็นตรงกันข้าม ปลดอำมาตย์ที่คงแก่งานออกเสียจากตำแหน่ง แต่งตั้งหนุ่มคะนองเข้าแทนที่ พวกครูอาจารย์ต้องเก็บตัวหุบปากเงียบ ไม่มีการเกี่ยวข้อง และพวกหนุ่มคะนองเหล่านั้น ลากเอากิจการของหมู่ของคณะเข้าหาความยุ่งยากหนักขึ้นทุกที
(๕) อสฺโส ม้าตัวหนึ่ง มีปากทั้งสองข้างและคงมีหัวสองหัวด้วย มหาชนพากันเอากล้าข้าวเหนียวป้อนมันทั้งสองปากอย่างเหลือเฟือ ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่ง ซึ่งผู้มีอำนาจตั้งมนุษย์ผู้ไม่ยุติธรรมไว้ในฐานเป็นผู้วินิจฉัยคดี เขาพากันเรียกเอาสินบนเอาจากคู่ความทั้งสองข้างเสียก่อน แล้วจึงตัดสินเอาตามพอใจตน
(๖) กโส มนุษย์พากันขัดสีถาดทองคำราคาตั้งแสน ให้สวยสะอาดแล้ว นำไปหาสุนัขจิ้งจอกให้ถ่าย ปัสสวะใส่ ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่ง ซึ่งคนตระกูลสูงตกอยู่ในความประมาท พวกตระกูลหรือวรรณะต่ำๆพากันยกตัวเองขึ้นได้ด้วยการศึกษา จนพระราชาทรงแต่งตั้งแทนพวกตระกูลสูง พวกตระกูลสูงจักต้องยอมให้บุตรธิดาของตนทำการสมรสกับพวกต่ำ ข้อนี้ทรงจัดชั้นมนุษย์ด้วยตระกูลแทนการจัดด้วยเอาความดีเป็นหลักซึ่งเป็นเพียงการกล่าวถึงความเป็นไปของมนุษย์เท่านั้น
(๗) สิคาลี ชายผู้หนึ่งเอาหนังมาฟั่นเชือกอยู่บนม้านั่ง ห้อยส่วนที่ฟั่นแล้วลงไปใต้ม้า นางสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งอยู่ใต้นั้น มันกินเชือกที่ฟั่นแล้วนั้นเสียร่ำไป ไม่เป็นเชือกขึ้นมาได้ ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่งซึ่งเด็กหญิงพากันเสื่อมเสียศีลธรรม สาละวนแต่ในการตกแต่งร่างกายให้สวยงามโลเลในชายหนุ่มดื่มน้ำเมา ศึกษาวิชาการยั่วยวนบุรุษให้หลงใหล ไม่ใส่ใจต่อการเรียนของตน ไปหาชู้โดยการกระโดดข้ามรั้วไปบ้าง เข้าทางหน้าต่างบ้าง ทรัพย์ที่สามีตนหามาได้สักเท่าไร ก็รั่วไหลไปด้วยการหน้าไหว้หลังหลอกนั้นๆ ไม่มีเวลาเหลือทำงานเรือนสักว่าพอเป็นที ใช้เวลาทั้งหมดนอกนั้นเพื่อความเพลิดเพลินส่วนเดียว ในยุคที่เรากำลังก่อร่างสร้างกำลังให้แก่ชาตินี้ขออย่าให้สมัยนี้มาถึงแก่พวกเราชาวไทยเลย
(๘) กุมฺโภ มีโอ่งน้ำใหญ่ตั้งอยู่ใบหนึ่ง โอ่งนิดๆล้อมอยู่เป็นอันมากโดยรอบ มนุษย์ทั่วทุกทิศพากันตักน้ำมาใส่แต่โอ่งใบใหญ่นั้นท่าเดียวจนหกล้นไปแล้วก็ยังใส่ ไม่มีใครใส่ในโอ่งเล็กๆนั้นบ้างเลย ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่ง ซึ่งราษฎรจักต้องทำงานหารายได้ บำรุงชนชั้นปกคอรงหรือรัฐบาลโดยส่วนเดียว โดยไม่ต้องนึกถึงการเก็บการมีของตนเอง ข้อนี้ถ้าหากว่าบำรุงชาติประเทศด้วยความจำเป็นในสมัย ต้องทำการป้องกันตัวอย่างเต็มที่ก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นข้อเสียหาย และอีกอย่าง ความข้อนี้น่าจะได้แก่การที่ทุกวันนี้ การเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป็นต้น มันช่วยให้คนมั่งมีมั่งคั่งยิ่งขึ้น เครื่องจักรแย่งแรงงานของคนจนเสียหมด โอ่งน้อยๆ จึงว่างพร่อง โอ่งใหญ่ๆเต็มล้น ได้แก่ปัญหาคนจนไม่มีงานทำนั่นเอง
(๙) โปกฺขรณี มีสระน้ำใหญ่ ฝูงสัตว์ทุกชนิดพากันลงกินน้ำ แต่น้ำลึกๆ ที่กลางสระกลับขุนเป็นต้น ส่วนริมขอบสระใสแจ๋วเย็นสะอาด ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่งซึ่งในเมืองหลวงไม่เป็นที่อยู่อาศัยอันผาสุก มหาชนพากันหลีกออกไปหาที่อาศัยอันสำราญตามชนบท ในเมืองหลวงมีแต่ความยุ่งยาก ชนบทมีความเยือกเย็นสบายดี เมื่อในเมืองหลวงกำลังถูกบีบคั้นจากโจรภัย เป็นต้น ที่บ้านนอกเต็มไปด้วยความเมตตากรุณาโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจอาชญานี้ ท่านคงหมายถึงความยุ่งยากทางการเมืองหรือปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้น มากกกว่าความป่าเถื่อน ที่จะเกิดขึ้นในเมืองหลวง
(๑๐) อปากํ ข้าวสุกที่บุคคลหุงในหม้อเดียวกัน ซีกหม้อข้างหนึ่งสุกดี ข้างหนึ่งสุกๆ ดิบๆ อีกข้างหนึ่งดิบแท้ ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่งซึ่งชนชั้นปกครอง รัฐบาล ราชตระกูล อำมาตย์ ราษฏรทุกคนพากันถืออำนาจเป็นธรรม ไม่เคารพหลักธรรม กระทั่งพวกเทวดาที่เนื่องอยู่กับมนุษย์ก็พลอยเป็นไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้น ฝนจักตกไม่เสมอ ในรัฐสีมาอันเดียวกัน ส่วนหนึ่งมีฝนตก ส่วนหนึ่งไม่ตกเลย อีกส่วนหนึ่งตกเล็กๆ น้อยๆ ข้อนี้คงหมายถึงชนิดที่มิใช่ธรรมชาติอุตินิยม คือเป็นเพราะเหตุนั้นๆ บันดาลจริงๆ อีกอย่างคือ คำว่า ฝน อาจเป็นชื่อของความผาสุกของประชาชนก็ได้ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติวิทยา ก็ยังไม่ควรหัวเราะเยาะเร็วเกินไป เพราะน่าจะมีอะไรๆ อยู่มากที่เรายังคาดไม่ถึง
(๑๑) จนฺทนํ คนพวกหนึ่ง เอาแก่นจันทน์แดงอย่างดีราคาสูงสุดเป็นอันมาก ไปแลกนมเปรี้ยวอย่างเลวๆ หม้อเดียวท่านั้น ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่งซึ่งนักบวชในศาสนานี้ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยของตถาคตซึ่งมีวิมุติเป็นคุณค่าอันเลิศ เป็นอันมากแล้ว พากันไปแลกลาภผลด้วยเห็นแก่ปากแก่ท้องเล็กๆ น้อยๆ เขาจะนำเอาคำของตถาคตที่ติเตียนความโลภไปแสดงแก่มนุษย์ทั้งหลาย ให้มนุษย์ละความโลภนั้นๆ โดยสละปัจจัยถวายตน อลัชชีเหล่านั้นเมื่อไม่อาจถอนตนออกจากความเป็นทาสในลาภ หรือตั้งอยู่ในฝักฝ่ายแห่งพระนิพพานได้ก็ได้อาศัยความรู้ในทางอรรถพยัญชนะหรือเสียงอันไพเราะแสดงธรรม ทายกผู้หลงใหลในความรู้หรือเสียงก็ถวายปัจจัยเป็นอันมาก อลัชชีบางพวก จักนั่งแสดงธรรมเรื่องพระนิพพาน ตามข้างถนน ทางสี่แพร่งและประตูของพระราชา(ประตูวัง) เพื่อเห็นแก่เงินเพียงมาสกหนึ่ง(ประมาณยี่สิบสตางค์) เป็นอย่างต่ำ เขาพากันนำเอาธรรมที่ตถาคตแสดงอันประกอบด้วยคุณค่าสูงสุด เพราะอาจยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน ที่เขาทั้งหลายเรียนเอาแล้วเหล่านี้ไปแลกเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง ข้อนี้ ทรงหมายถึงการกระทำของผู้ที่มุ่งลาภโดยส่วนเดียว เพราะคนประเภทนี้เป็นผู้ก่อให้เกิดประเพณีว่าจ้างให้แสดงธรรมทั้งที่การแสดงธรรมเป็นหน้าที่ของบุตรตถาคตโดยตรง
(๑๒) ลาวูนิ สีทนฺติ น้ำเต้าแห้ง กลวง เปล่า ซึ่งตามธรรมดา ย่อมลอยน้ำ กลับจมดิ่ง ทรงทำนายว่าจักมีสมัยหนึ่งซึ่งโลกแปรปรวน จนถึงกับนิยมเชื่อถือถ้อยคำของคนคดโกง ในราชสำนัก ในที่ประชุม ที่วินิจฉัยความ ถ้อยคำของคนเท็จ คนประจบ ได้รับการเชื่อถือ ในท่ามกลางสังฆสันนิบาต(ที่ประชุมภิกษุสงฆ์ทั้งหมด) คนทุศีลที่อาศัยศาสนาหากิน ย่อมมีเสียงดัง มีคนเชื่อฟัง คำของเขาเป็นดุจว่านำสัตว์ออกจากทุกข์ไปสู่พระนิพพานได้ ส่วนคนที่มีศีล ประพฤติตรง ประพฤติชอบ ไม่มีเสียง ดุจไม่เป็นถ้อยคำที่ยังผู้ฟังให้ออกจากทุกข์ได้ แม้ในการตัดสินอธิกรณ์เป็นต้น ก็ทำนองเดียวกัน เรื่องนี้ย่อมก่อให้เกิดความสังเวชเป็นอันมากและจะมียุคหนึ่งเสมอที่อธรรมพูดจ้อ แต่ธรรมเป็นใบ้
(๑๓) สิลา ปลวนฺติ สิลาแท่นทึบ โตเท่าเรือน พากันลอยฟ่องอยู่เหนือน้ำ เหมือนเรือสำเภาที่มิได้บรรทุกสินค้า ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่งซึ่งโลกแปรปรวน ทำคนตระกูลสูงตกยากโดยมาก คนตระกูลต่ำกลับมั่งคั่งและไม่เคารพคนตระกูลสูง ในที่ประชุมก็คือที่ที่คนไพร่ตระกูลต่ำพูดเยาะเย้ยถากถางคนผู้ดีตระกูลสูง ในท่ามกลางสังฆสันนิบาตก็คือที่ที่พวกอลัชชี พูดกดขี่ข่มเหง เยาะเย้ยถากถางภิกษุผู้เป็นลัชชี ข้อนี้ ถ้าเราจักเพ่งในฝ่ายดี ควรเข้าใจว่า คนตระกูลสูงประมาทจนเคยตัว วงกลมที่หนักมากก็หมุนไปตามกฎแห่งกรรม จนคนตระกูลสูงตกยาก คนตระกูลต่ำที่ไม่ประมาทยกตัวเองขึ้นได้ ด้วยความรู้ ความสามารถของตน จนมีฐานะดีกว่าคนชั้นสูง
(๑๔) มณฺฑูกิโย กณฺหสปฺเป คิลนฺติ นางเขียดน้อย ไล่ตามงูเห่าตัวมหึมา ทันแล้วกลืนกินเสียเหมือนที่มันกลืนกินก้านหน่อบัวอันอ่อน ฉะนั้น ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่งที่บุรุษพากันตกอยู่ในอำนาจสตรี เพราะความหลงใหลในกามคุณ บรรดาทรัพย์สมบัติ ข้าทาส กรรมกรอยู่ในมือหญิงผู้เป็นแม่เรือนหมดเลยเป็นเหตุให้เล่นตัว มีอำนาจเด็ดขาดในมือ สามีไม่กล้าปริปากอะไรแม้แต่นิดเดียว ข้อนี้จะเป็นได้ในเมื่อสตรีเจริญด้วยศิลปะในการยั่วยวนถึงขีดสุด สามารถผูกมัดบุรุษไว้อยู่มือด้วยประการทั้งปวง ถ้าจะมีผลดีบ้างก็เป็นผลดีต่อการป้องกันสงครามของโลกเท่านั้น เพราะเชื่อว่าบางทีสตรีอาจห้ามบุรุษไม่ให้รบกันได้ สตรีไม่ปรากฏว่าชอบรบ ถึงจะรบก็ต้องเป็นการรบที่อ่อนแอเหมือนเพศของตน
(๑๕) กากํ สุวณฺณา ปริวารยนฺติ ราชหงส์สีทองทั้งหลาย เที่ยวแห่ห้อมล้อมอีกาสีดำไปทั่วๆ ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่งซึ่งราชตระกูลไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพระราชา โดยที่พระราชาระแวง คิดตัดกำลังเสียงหรือด้วยเหตุอื่นๆ ก็ตาม ราชตระกูลเหล่านั้นต้องหันไปพึงพาอาศัยคนชั้นต่ำที่เป็นราษฏรเป็นต้นซึ่งเป็นผู้มียศมีอำนาจ ได้รับการแต่งตั้งจากพระราชา
(๑๖) ตสาวกา เอฬกานํ ภายนฺติ แพะทั้งหลายพากันไล่จับเสือมาเคี้ยวกินอยู่กรวบๆ ทรงทำนายว่า จักมีสมัยหนึ่งซึ่งพระราชาประพฤติผิดธรรม ทำคนตระกูลต่ำให้มีอำนาจ ปราบปรามคนตระกูลสูงหรือราชตระกูลให้อยู่ในอำนาจของตน ต่างพาริบเอาทรัพย์สินเงินทองด้วยอำนาจอันไม่ชอบธรรม ภิกษุที่เป็นบาปทั้งหลายพากันเบียดเบียนภิกษุที่ประพฤติธรรม เมื่อเธอเหล่านั้นไม่ได้ความยุติธรรมจากพระราชาหรือใครๆ ที่เป็นที่พึงของตนแล้วต่างก็ต้องหลีกออกไปอยู่ตามป่าตามเขาเพื่อแสวงหาสันโดษธรรมกันอย่างมาก
๓. อ่านคำทำนาย “ปัถเวทน์” แล้ว ศึกษาหลักธรรม กรณีธรรมะจากไตรลักษณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

ดวงดีดอทคอม เวปใหม่