วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2551

ทำนายฝัน ก


เรื่องราวและนัยที่เกี่ยวกับคำทำนายคัมภีร์ปัถเวทน์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เป็นความมหัศจรรย์ที่ต่อมาคำทำนายหลายข้อที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปัถเวทน์นั้น เกิดปรากฏเป็นความจริงที่ใกล้เคียงกันเหตุการณ์ในปัจจุบันในระนาบที่แทบจะเป็นภาพจำลองที่กล่าวไว้ในคำทำนายนั้นก็ไม่ปาน ปรากฏการณ์เหล่านี้มีความอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เป็นความอย่างยิ่งและยิ่งใหญ่ที่แม้แต่ปราชญ์เมธีแห่งยุคสมัยเฉกเช่นพระพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลารามก็นำมากล่าวไว้อย่างแยบยล และคำทำนายของปัถเวทน์ล้วนแต่มีคติธรรมที่สำคัญต่อการทำความเข้าใจพุทธธรรมและกฏแห่งสามัญญลักษณ์ ที่อธิบายว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นไปตามกฏแห่งธรรมชาติและกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เสมอและเหมือนกัน
คำทำนายนี้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวพุทธเป็นอย่างมากนับช่วงเวลาได้ราว ๑,๕๐๐ ปี ตามการคำนวณของอายุคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ในเรื่องนี้มีบุคคลสำคัญทางพระพุทธศาสนาปรากฏชื่อหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องอันเป็นมูลเหตุของข้อเขียนนี้ รวมถึงพระเจ้าพันธุละ พระเจ้ามหาลิ พระนางมัลลิกาและพระเจ้าวิฑูฑภะ ผู้สำเร็จโทษราชสกุลศากยะอันเป็นพระราชวงศ์แต่เดิมของพระพุทธเจ้าจนหมดสิ้น ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า พระเจ้าวิฑูฑภะให้ประหารทุกคนที่เมื่อทหารถามว่าเป็นเชื้อสายแห่งเจ้าศากยะหรือไม่ หากตอบว่าใช่ก็ให้ประหารเสียให้สิ้น ในคราวนั้นปรากฏว่ามีเจ้าศากยะบางพระองค์รอดชีวิตมาได้ด้วยการพากันหยิบต้นอ้อและต้นหญ้าแล้วกล่าวว่าไม่ใช่เจ้าศากยะ แต่เป็นต้นอ้อ เป็นต้นหญ้า จึงรอดชีวิตมาได้ จนต่อมารู้จักกันในนามกลุ่มเจ้าศากยะอ้อ เจ้าศากยะหญ้า
เรื่องราวในคำทำนายนี้สอนหลักธรรมหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรรม เรื่องไตรลักษณ์ ความไม่ประมาท การทำบุญทำกุศล การสร้างความดีให้ตัวเองและผู้อื่นเป็นต้น นับได้ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรแก่การเพ่งพิจารณาและปัจจเวกขณ์โดยสติปัญญา โดยความเคารพในความไม่ประมาท โดยเฉพาะแล้วเป็นช่วงเทศกาลงานบุญพิธี ตามประเพณีนิยมอาทิเช่นการทอดกฐินในปีนี้อยู่ไม่น้อยทีเดียว

๒. ประวัติพระเจ้าปเสนทิโกศล และความเป็นมาของคำทำนายปัถเวทน์
สำหรับพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ มีปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาหลายแห่งด้วยกัน ลักษณะเป็นข้อมูลที่ไม่ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันนัก กล่าวคือมีปรากฏในธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาคที่ ๓ และภาคที่ ๖ และในพระไตรปิฏกคือในโกศลสังยุตตนิกาย เล่มที่ ๑๕ ซึ่งพอลำดับเรื่องได้ดังนี้
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเป็นศิษย์เก่าแห่งตักสิลาแห่งคันธาระรัฐ(๑) โดยได้เสด็จไปศึกษากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สมัยที่ทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร โดยเดินทางไปพร้อมกันกับเจ้าชายอีก ๒ พระองค์คือเจ้าฟ้าชายมหาลิ แห่งแคว้นลิจฉวี และเจ้าฟ้าชายพันธุละ แห่งแคว้นมัลละ โดยเจ้าฟ้าชายทั้ง ๓ พระองค์นี้ได้เข้าศึกษายังสำนักตักสิลาเป็นศิษย์รุ่นเดียวกัน ในพระไตรปิฏก อรรถกถาธรรมบทระบุว่า หลังจากท่านสำเร็จการศึกษาแล้ว เจ้าชายทั้ง ๓ พระองค์นี้ ได้ทรงแยกกันกลับไปยังเมืองของตนเอง โดยเจ้าชายมหาลิได้แสดงความสามารถทางศิลปะที่ได้ศึกษามาคือการยิงธนู และได้รับอุบัติเหตุในการแสดงศิลปะจนพระเนตรบอดทั้งสองข้าง โดยเจ้าฟ้าชายมหาลิ ทรงเป็นผู้ที่มีกำลังอย่างมหาศาสลทีเดียว กล่าวกันโดยสมญานามคือเฉพาะแต่คันธนูของพระองค์นั้นต้องใช้กำลังของชายวัยกลางคนถึง ๕๐๐ คน จึงสามารถยกขึ้นได้ สายธนูนั้นเมื่อง้างขึ้นแล้วปล่อยไป เสียงลูกธนูที่กระทบกับสายลมคล้ายเสียงอัสนีบาต สามารถยิงทะลุข้าศึกแม้มีจำนวนถึง ๕๐๐ คนได้ โดยที่ผู้ถูกลูกธนูของท่านก็ไม่รู้ว่าต้องศรธนู ต่อเมื่อดึงลูกธนูออกจึงรู้และเสียชีวิตในทันที โดยเหตุการณ์นี้ปรากฏในการทำศึกของพระองค์หลายครั้งด้วยกัน ส่วนเจ้าชายพันธุละทรงแสดงศิลปะการฟันดาบ โดยสามารถฟันไม้ไผ่ที่สอดเหล็กกล้าไว้ภายในลำไม้ไผ่กำละ ๖๐ ลำ ขาดทันที ส่วนพระเจ้าปเสนทิโกศลก็เช่นกัน(๒)
หลังจากแสดงศิลปะแล้วเจ้าฟ้าชายทั้งสามเมืองนี้ต่างก็ได้รับการพระราชทานการอภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ทุกพระองค์ โดยพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปกครองแคว้นโกศล มีเมืองสาวัตถีเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐมคธ ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๑๖ รัฐ เป็นราชธานีที่มีความเกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับพระพุทธเจ้าและพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างมาก โดยเป็นแคว้นที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ถึง ๒๕ พรรษา(๓) ในเมืองสาวัตถีแห่งนี้เองพระพุทธเจ้าทรงได้ทั้งอุบาสกและอุบาสิกาที่นับว่าเป็นกำลังสำคัญ อย่างเช่น อนาถปิณฑิกเศรษฐีมหาอุบาสก ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดเชตวันมหาวิหาร นางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้สร้างวัดบุพพาราม และแม้แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลเองก็ทรงเป็นผู้สร้างวัดราชการามถวายแด่พระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

ดวงดีดอทคอม เวปใหม่